115 คนดู · 21 Feb 2024
#ประเทศไทย#ชุมพร#ท่าแซะ#แหล่งท่องเที่ยว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชมาเป็นเวลานาน ก่อนคำว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพ (BIOLOAGICAL DIVERSITY)”และอนุรักษ์ (COUSERVATION) จะเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย จากการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ. 2503 เมื่อเสด็จผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทอดพระเนตรเห็น ต้นยางนาขนาดใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทรงมีพระราชทานให้เก็บเมล็ดพันธุ์ยางนาไปเพาะที่ตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน และนำต้นยางนาที่เพาะได้ นำมาปลูก ในสวนจิตรลดา เพื่อเป็นแหล่งศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ทรงมีพระราชทานพระราชดำริให้ทำการอนุรักษ์ต้นขนุนในพระบรมมหาราชวัง และได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พรรณไม้ ในพระราชวังต่างๆ โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ทรงมีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์ และขยายพันธุ์หวายรวมทั้งดำเนินการจัดสร้างสวนสมุนไพรในโครงการสวนพระองค์ ฯ สวนจิตรลดา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามพระบรมราชกุมารี ทรงสืบต่องานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชโดยทรงมีพระราชดำริกับท่านเลขาธิการพระราชวัง ให้มีการดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ ในเดือน มิถุนายน 2535 ซึ่งมีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้จัดสร้างธนาคารพืชพรรณสำหรับเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อรวมทั้งการศึกษาที่มิใช่พืชเศรษฐกิจให้มีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชโดยนำพระราชดำริ มาเป็นกรอบในการดำเนินการ
เมื่อปี พ.ศ. 2536 นายสุจินต์ ภูนิคม กำนันตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร และคณะได้ประสานงานหารือกับผู้อำนวยการบริษัทอุลตร้าโปรดักส์ จำกัด และเกษตรกรจังหวัดชุมพรในการนำพื้นที่สาธารณะประโยชน์ซึ่งตั้ง ณ หมู่ที่ 6 ตำบลสลุย (ปัจจุบัน หมู่ที่ 5,6 ตำบลสลุย และ หมู่ที่ 4 ,7 ตำบลสองพี่น้อง) เพื่อจัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ ซึ่งขณะนั้น โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาก็กำลังจัดหาพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ต่อมาทางโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยศาสตราจารย์พิเศษประชิด วามานนท์ (ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์) พร้อมคณะได้เดินทางมาพบผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (นายประยูร พรหมพันธุ์)
เพื่อปรึกษาหารือในการจัดทำโครงการโดยใน ระยะ 5 ปี แรกได้ใช้ ชื่อโครงการว่า “โครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้และพิพัฒน์พรรณไม้ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดชุมพร” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร จึงได้ทำโครงการเสนอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรและได้จัดส่งเอกสารโครงการไปยังผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อโปรดนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองพระบาทในโอกาสอันสมควรและทางโครงการส่วนพระองค์ได้แจ้งตอบรับ เรื่องการนำโครงการอนุรักษ์พันธุไม้และพิพัฒน์พรรณพืชฯ จังหวัดชุมพร ทราบฝ่าละอองพระบาท เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536 และในการดำเนินโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาได้ผนวกโครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ และพิพัฒน์พรรณพืชของจังหวัดชุมพร เข้ากับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในส่วนกลางมีดร.พิศิษฐ์ วรอุไร เป็นประธานคณะกรรมการ และจากการประชุมกรรมการ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2540 ที่ประชุมมีมติเปลี่ยนชื่อโครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้และพิพัฒน์พรรณพืช ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดชุมพร เป็นชื่อ “โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดชุมพร”